ซื้อประกันลดหย่อนภาษีได้อย่างไร?

ซื้อประกันลดหย่อนภาษี ได้อย่างไร

 การทำประกันเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากในการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้ซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ทุกปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหลายคนที่สงสัยว่าทำไมประกันลดหย่อนภาษีได้ แล้วประกันแบบไหนบ้างที่สามารถนำไปลดหย่อนได้ รวมไปถึงประกันลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ ควรซื้อประกันแบบไหนถึงจะลดหย่อนภาษีได้คุ้มค่า?

ทำไมการซื้อประกันถึงลดหย่อนภาษีได้?

    หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อประกันจะช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลงได้ยังไง คำตอบคือเนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพและอยากให้เห็นความสำคัญของการทำประกัน เพราะทุกครั้งที่ประชากรประเทศไทยมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เท่ากับว่าระบบเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพื่อที่จะลดความเสียหายในส่วนนี้ลง รัฐบาลจึงอนุญาตให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อประกันบางประเภทมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะการซื้อประกันคือการสร้างความมั่นคงอย่างหนึ่ง โดยเป็นการวางแผนชีวิต และวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้าเผื่ออนาคต และเหตุไม่คาดฝัน นอกจากนี้ยังถือถือเป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐไปได้อีกไม่น้อยด้วยนั่นเอง

ประกันชนิดไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง?

    ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ประกัน 4 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิตทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพตนเอง และประกันสุขภาพของพ่อแม่ สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปลดหย่อนภาษีได้

1. ประกันชีวิตแบบทั่วไป

    ประกันประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้ที่ทำประกัน หมายถึงบริษัทประกันจะจ่ายเงินผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อครบสัญญา หรือจ่ายให้ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ซึ่งผู้รับประโยชน์อาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทางใดทางหนึ่งจากการจากไปของผู้เอาประกัน เช่น เป็นบุคคลในครอบครัว โดยประกันชีวิตทั่วไปที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้

• ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) เน้นคุ้มครองชีวิตระยะยาว และจ่ายเบี้ยฯ เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จุดเด่นคือเป็นประกันที่ไม่ต้องจ่ายเบี้ยฯ ทิ้ง หมายความว่าบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่มีชีวิตอยู่ครบสัญญา หรือจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์ในกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต

• ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) เน้นคุ้มครองชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง ๆ และมีเบี้ยประกันภัยไม่สูง โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเท่านั้น หากครบกำหนดแล้วผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่จะไม่ได้รับเงินคืน

• ประกันชีวิตเพื่อการสะสมทรัพย์ (Endowment) เป็นการออมเงินในรูปแบบประกัน คือนอกจากจะได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุในกรมธรรม์ แล้วยังได้ออมเงินด้วย จุดเด่นคือจะได้มีเงินก้อนสำรองไว้ใช้ในอนาคต หรือมีเงินผลประโยชน์ส่งต่อให้คนที่รักหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

• ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) เป็นการทำประกันชีวิตควบกับการลงทุนในกองทุนรวม โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะในส่วนของค่าเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ส่วนเบี้ยฯ ที่นำไปลงทุนจะไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้

    เงื่อนไขของการนำเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปมาลดหย่อนภาษี คือ ประกันชีวิตจะต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น หากมีการจ่ายเงินคืนรายปีระหว่างทาง เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี และหากมีการจ่ายเงินคืนตามช่วงระยะเวลา (เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี) เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา และหากทำประกันชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รักประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

    หลัก ๆ แล้วประกันชีวิตแบบบำนาญจะเป็นการเก็บเงินไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน โดยจะมีกำหนดให้จ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่องไปจนกว่าจะเริ่มรับเงินบำนาญ (อย่างน้อยที่สุดคือจ่ายถึงอายุ 55 ปี) แล้วบริษัทประกันจะจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เอาประกันเป็นรายปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบกำหนดสัญญาโดยเงื่อนไข หากทำประกันชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไปผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้เอาประกันภัยที่ได้เอาประกันภัยไว้ และการนำประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีจะมีส่วนที่เหมือนกับประกันชีวิตทั่วไปคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น นอกจากนั้นคือ กรมธรรม์ต้องจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดแบบสม่ำเสมอ และกรมธรรม์ต้องกำหนดช่วงอายุการจ่ายผลประโยชน์ตั้งแต่อายุ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น

3. ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี

ประกันสุขภาพที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้

  • ประกันสุขภาพ คือประกันที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย
  • ประกันโรคร้ายแรง คือประกันที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายเมื่อผู้ทำประกันเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง  ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้

4. ประกันสุขภาพของพ่อแม่ ลดหย่อนได้สูงสุด 15,0000 บาทต่อปี

    เป็นประกันที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับประกันสุขภาพตัวเอง เพียงแต่เป็นการซื้อให้พ่อแม่ของเราเองหรือพ่อแม่ของคู่สมรส โดยตัวเราหรือคู่สมรสต้องเป็นลูกแท้ ๆ ตามกฎหมายของพ่อแม่ จะเป็นลูกบุญธรรมไม่ได้ และทั้งพ่อแม่แต่ละคนมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี [C1] และหากเราอยู่เมืองไทยไม่ถึง 180 วัน ให้ได้รับการยกเว้นภาษีได้เฉพาะการทำประกันสุขภาพพ่อแม่ที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้

 

ประกันแต่ละประเภทลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?

1. ประกันชีวิตแบบทั่วไป ใช้ลดหย่อนได้ตามเบี้ยฯ ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ทำประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ตัวเอง และเมื่อรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วก็ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อ (รวมเบี้ยประกันสุขภาพได้ โดยเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาทต่อปี)

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนได้ตามเบี้ยฯ ที่จ่ายจริง สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับผู้ที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญจะสามารถลดหย่อนภาษีแบบจุใจได้สูงสุด 300,000 บาท หากยังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ก็คือสามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปโปะในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทได้ และลดหย่อนภาษีในส่วนของประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีกสูงสุด 200,000 บาท รวมเป็น 300,000 บาทนั่นเอง

3. ประกันสุขภาพตัวเอง ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยฯ ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี และ เมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

4. ประกันสุขภาพของพ่อแม่ ใช้ลดหย่อนได้ตามเบี้ยฯ ที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี สามารถแบ่งจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ร่วมกับพี่น้องได้  โดยจะลดหย่อนได้สูงสุดตามยอดเงินที่หารเฉลี่ยด้วยจำนวนพี่น้อง เช่น หากมีพี่น้อง 3 คน และทั้ง 3 คนต้องจ่ายภาษี ลูก ๆ แต่ละคนจะขอสิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินคนละ 5,000 บาทจากจำนวนเต็ม 15,000 บาทนั่นเอง

ประกันลดหย่อนภาษีควรซื้อตอนไหนดี?

    คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มให้ความสนใจซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีกันในช่วงปลายปี เพราะจะเป็นช่วงที่รายได้ของหลายคนเริ่มนิ่งแล้วทำให้สามารถคำนวณภาษีได้ค่อนข้างแม่นยำว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่แล้วจึงค่อยเริ่มมองหาประกันลดภาษีนอกจากนี้ช่วงปลายปีก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ใกล้จะต้องจ่ายภาษีในช่วงต้นปีถัดไปคือ ประมาณช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปีนั่นเอง

    แต่รู้หรือไม่ว่าการซื้อประกันสำหรับลดหย่อนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เราสามารถวางแผนจัดการการเงินได้ดีกว่า เนื่องจากช่วงปลายปีมักจะเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานเทศกาล งานเลี้ยงต่าง ๆ ที่มีค่อนข้างมาก หากต้องนำเงินไปซื้อของขวัญ จัดงานเลี้ยง แล้วยังต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยในช่วงเวลาเดียวกันอีกอาจส่งผลกับสภาพคล่องของเรา นอกจากนี้อาจทำให้ไม่มีเวลาในการพิจารณาแบบประกันที่ตอบโจทย์ตัวเองจนเลือกซื้อประกันที่เบี้ยประกันภัยสูงเกินไป หรือซื้อประกันผิดประเภท ผิดเงื่อนไข รวมถึงประกันบางแบบอาจต้องใช้เวลาในการอนุมัติ หากตัดสินใจช้าเกินไปก็อาจจะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ทันภายในปีนี้ เป็นต้น สรุปก็คือ ประกันลดภาษีสามารถซื้อได้ทุกช่วงของปี โดยถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนี้ ควรคำนวณและวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ และทำการตัดสินใจซื้อประกันเพื่อการลดหย่อนภาษีก่อนสิ้นปีนั้น ๆ

ที่มา : https://www.aia.co.th/th/health-wellness/content-hub/best-wealth/what-to-know-before-purchasing-insurance-for-tax-deduction

Scroll to Top